Tag Archives: พะเยา

รวมข่าว สพป. วันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๕๗

นักเรียนพังงา รับมอบทุนการศึกษาจากมูลนิธิเจียร-วรรณี วานิช จำนวน 50 ทุน เป็นเงิน 128,000 บาท

665694.JPG

มูลนิธิเจียร – วรรณี วานิช ช่วยเหลือเด็กนักเรียนยากจน และกองทุนกฐินคุณเอกพจน์ – บุญรอด วานิช เพื่อสำนักสงฆ์สองแพรก มอบทุนการศึกษาให้กับนักเรียนที่เรียนดีแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์และนักเรียนที่ขาดแคลนอุปกรณ์การเรียน ในจังหวัดพังงา จำนวน 50 ทุน เป็นเงินทั้งสิ้น 128,000 บาท ในวันที่ 27 ตุลาคม 2557

มีนายอภิรักษ์ วานิช ตัวแทนคณะกรรมการมูลนิธิฯ, นางอัญชลี วานิชเทพบุตร อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดภูเก็ต เป็นตัวแทนมอบทุนดังกล่าว ณ ห้องมัลติมีเดีย โรงเรียนดีบุกพังงาวิทยายน จังหวัดพังงา นายประยูร รัตนเสนีย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา รักษาราชการแทน ผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา เป็นประธานในพิธีพร้อมร่วมเป็นตัวแทนในการมอบทุน นอกจากนี้ยังมี นายกำจร อุทัยวจนพันธ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนดีบุกพังงาวิทยายนและนายอุทัย เกื้อเพชร รอง ผอ.สพป.พังงา ร่วมเป็นตัวแทนในการมอบทุนให้กับนักเรียน เพื่อเป็นการส่งเสริมเยาวชนให้มีความรู้ความสามารถในการศึกษาเล่าเรียน นำความรู้ไปประกอบอาชีพได้อย่างดี ตลอดจนเป็นพลเมืองดีของชาติ หลังจากเสร็จสิ้นพิธีมอบทุนในภาคเช้า มูลนิธีฯ ได้จัดเลี้ยงอาหารกลางวันแก่นักเรียนและผู้ปกครองอีกด้วย ..ธนพร ภาพ/ข่าว

ประชุมเสวนา เรื่อง “ก้าวข้ามกับดักคุณภาพการศึกษาไทยกับแนวคิดของคุรุทายาท”

665743.JPG

นายชัชชัย ทับทิมอ่อน ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาน่าน เขต 2 เป็นประธานในการประชุมเสวนาวิชาการเพื่อพัฒนาเครือข่าย สสค.ภาคเหนือ ตอนบน เรื่อง “ก้าวข้ามกับดักคุณภาพการศึกษาไทยกับแนวคิดของคุรุทายาท” เมื่อวันศุกร์ที่ 24 ตุลาคม 2557 ณ อูปแก้วรีสอร์ท จังหวัดน่าน ในการประชุมเสวนาวิชาการครั้งนี้มีผู้บริหาร ครู บุคลากรทางการศึกษา คุรุทายาท จังหวัดภาคเหนือตอนบน ประกอบ จังหวัดกำแพงเพชร จังหวัดเชียงราย จังหวัดพะเยา จังหวัดแพร่ และจังหวัดน่าน จำนวน 80 คน เข้าร่วมประชุมเสวนา

ในการประชุมเสวนาวิชาการในครั้งนี้จัดโดยชมรมคุรุทายาทน่านร่วมกับเครือข่ายคุรุทายาทนักพัฒนาการศึกษา โดยการสนับสนุนจากสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) โดยมีดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้เชี่ยวชาญนโยบายด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษา สสค. ให้แนวคิด “ทิศทางและแนวโน้มการปฏิรูประบบการศึกษาในระดับนานาชาติ” นายแพทย์พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ อดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท ให้แนวคิด “การขับเคลื่อนเครือข่ายเพื่อการปฏิรูปเชิงระบบ : ประสบการณ์ชมรมแพทย์ชนบท” นายแพทย์สุภกร บัวสาย ผู้จัดการสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ร่วมให้ข้อเสนอแนะ

อบรมการจัดการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ และหน้าที่พลเมือง

665730.jpg

เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2557 นายดำเนิน เพียรค้า ผอ.สพป.ปราจีนบุรี เขต 1 เป็นประธานการอบรมการจัดการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ และหน้าที่พลเมือง ให้แก่ผู้บริหารสถานศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชน ณ ห้องประชุมสมานฉันท์ สพป.ปราจีนบุรี เขต 1 กระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายเกี่ยวกับการปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนการบริหารจัดการศึกษา เรื่อง การปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรม การสร้างวินัย การมีจิตสำนึกรับผิดชอบต่อสังคม ยึดมั่นในสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และมีความภาคภูมิใจในความเป็นไทย ตลอดจนการเรียนการสอนในวิชาประวัติศาสตร์ และหน้าที่ของพลเมือง รวมถึงการสอนศีลธรรมแก่นักเรียนซึ่งเป็นสิ่งสำคัญและควรส่งเสริมการเรียนให้เข้มข้น นั้น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กำหนดแนวปฏิบัติ คือ 1. การจัดการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ ให้เป็นไปตามโครงสร้างเวลาเรียนของหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 2. การจัดการเรียนการสอนหน้าที่พลเมือง ให้สถานศึกษาจัดรายวิชาหน้าที่พลเมือง เป็นรายวิชาเพิ่มเติม ทุกระดับชั้นและช่วงชั้น โดยดำเนินการดังนี้

ระดับประถมศึกษา (ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 – 6) และระดับมัธยมศึกษาตอนต้น (ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 – 3) ให้สถานศึกษาจัดรายวิชา “หน้าที่พลเมือง” เป็นรายวิชาเพิ่มเติม จำนวน 40 ชั่วโมงต่อปี

ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 – 6) ให้สถานศึกษาจัดรายวิชา “หน้าที่พลเมือง” เป็นรายวิชาเพิ่มเติม จำนวน 80 ชั่วโมงตลอด 3 ปี (2 หน่วยกิต) รายละเอียดตามหนังสือสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่ ศธ 04010/ว 779 ลงวันที่ 26 มิถุนายน 2557 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ชี้แจงเพิ่มเติม เพื่อให้เป็นไปตามแนวปฏิบัติดังกล่าวข้างต้น คือ 1. ให้สถานศึกษาเพิ่มรายวิชา “หน้าที่พลเมือง” ลงในหลักสูตรของสถานศึกษาเป็น “รายวิชาเพิ่มเติม” ในกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม คือ 1.1 ระดับประถมศึกษา (ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 – 6 ) จำนวน 6 รายวิชา รายวิชาละ 40 ชั่วโมงต่อปี 1.2 ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น (ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 – 3) จำนวน 6 รายวิชา รายวิชาละ 20 ชั่วโมง (0.5 หน่วยกิต) ต่อภาคเรียน 1.3 ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 – 6) จำนวน 4 รายวิชา รายวิชาละ 20 ชั่วโมง (0.5 หน่วยกิต) ต่อภาคเรียน (ตลอด 3 ปี 2 หน่วยกิต) 2. ให้สถานศึกษากำหนดรหัสรายวิชาเพิ่มเตอมหน้าที่พลเมือง ในกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม โดยใช้รหัสรายวิชาหลักที่ 1 – 4 ตามกำหนด ส่วนหลักที่ 5 และ 6 ลำดับที่ของรายวิชา ให้เป็นตามที่สถานศึกษากำหนด แล้วนำเสนอคณะกรรมการสถานศึกษาให้ความเห็นชอบ โดยสถานศึกษาทำหมายเหตุ ท้ายโครงสร้างหลักสูตรว่า เพิ่มตามหนังสือที่ ศธ 04010/ว 779 ลงวันที่ 26 มิถุนายน 2557 3. สำหรับภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2557 นี้ ให้สถานศึกษาจัดการเรียนการสอนรายวิชาเพิ่มเติม “หน้าที่พลเมือง” ดังนี้ 3.1 ระดับประถมศึกษา ให้สถานศึกษาจัดการเรียนการสอนรายวิชาหน้าที่พลเมือง ดังนี้

– ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 จัดการเรียนการสอนรายวิชาหน้าที่พลเมือง 1

– ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 จัดการเรียนการสอนรายวิชาหน้าที่พลเมือง 2

– ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 จัดการเรียนการสอนรายวิชาหน้าที่พลเมือง 3

– ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จัดการเรียนการสอนรายวิชาหน้าที่พลเมือง 4

– ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 จัดการเรียนการสอนรายวิชาหน้าที่พลเมือง 5

– ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จัดการเรียนการสอนรายวิชาหน้าที่พลเมือง 6

โดยใช้เวลาเรียน 20 ชั่วโมง ให้มีการวัดและประเมินผลโดยคิดเวลาเรียน ไม่น้อยกว่า ร้อยละ 80 จากเวลาเรียน 20 ชั่วโมง 3.2 ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ให้สถานศึกษาจัดการเรียนการสอนรายวิชาหน้าที่พลเมือง

– ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จัดการเรียนการสอนรายวิชาหน้าที่พลเมือง 2

เวลาเรียน 20 ชั่วโมง (0.5 หน่วยกิต) ต่อภาคเรียน

– ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 จัดการเรียนการสอนรายวิชาหน้าที่พลเมือง 4

เวลาเรียน 20 ชั่วโมง (0.5 หน่วยกิต) ต่อภาคเรียน

– ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จัดการเรียนการสอนรายวิชาหน้าที่พลเมือง 6

เวลาเรียน 20 ชั่วโมง (0.5 หน่วยกิต) ต่อภาคเรียน และให้มีการวัดและประเมินผลเป็นรายวิชา 3.3 ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ให้สถานศึกษาจัดการเรียนการสอนรายวิชา หน้าที่พลเมือง

– ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 จัดการเรียนการสอนรายวิชาหน้าที่พลเมือง 1

เวลาเรียน 20 ชั่วโมง (0.5 หน่วยกิต) ต่อภาคเรียน

– ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 จัดการเรียนการสอนรายวิชาหน้าที่พลเมือง 2

เวลาเรียน 20 ชั่วโมง (0.5 หน่วยกิต) ต่อภาคเรียน

– ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จัดการเรียนการสอนรายวิชาหน้าที่พลเมือง 4

เวลาเรียน 20 ชั่วโมง (0.5 หน่วยกิต) ต่อภาคเรียน และให้มีการวัดและประเมินผลเป็นรายวิชา ตั้งแต่ปีการศึกษา 2558 เป็นต้นไป ให้สถานศึกษาจัดการเรียนการสอนรายวิชาเพิ่มเติม หน้าทีพลเมือง เป็นไปตามหลักสูตรสถานศึกษาที่ปรับปรุงแล้ว ทั้งนี้สถานศึกษาสามารถดาวน์โหลดข้อมูลได้จากเว็บไซต์ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (http://www.obec.go.th) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อ่านข่าว สพป.ปราจีนบุรี เขต 1 ผ่านทางเว็บไซต์http://www.prachin1.net/e-news/ReNews.php?reNews=108

27 ตุลาคม 2557

ขอบคุณแหล่งข้อมูล: สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ

นักเรียนอุตรดิตถ์ มีศักยภาพและโรงเรียนที่มีคุณภาพทัดเทียมกับประเทศในกลุ่ม OECD

646073.jpg

จากวารสารสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ฉบับที่ 189 เดือนกรกฏาคม – สิงหาคม 2557 ได้ตีพิมพ์บทความผลการประเมิน PISA 2012 สำหรับการพัฒนาการบริหารจัดการการศึกษาขั้นพื้นฐานของไทย ซึ่งผลการประเมิน PISA หรือ การประเมินผลนักเรียนนานาชาติ Programme for International Student Assessment ของนักเรียนอายุ 15 ปีของไทย จะเป็นส่วนหนึ่งในการนำไปพิจารณาการจัดอันดับความสามารถของการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันระดับโลก (World Competitiveness Rankings) ของประเทศไทย โดยองค์การนานาชาติต่างๆ จะสะท้อนให้เกิดความเชื่อมั่นถึงศักยภาพของกำลังคนเพื่อการลงทุนในประเทศไทย จากบทความ ผลการประเมิน PISA 2012 สำหรับการพัฒนาการบริหารจัดการการศึกษาขั้นพื้นฐานของไทย จำนวนจังหวัดที่มีคะแนนเฉลี่ยสูงและค่าเฉลี่ยของคะแนนรวมของจังหวัดที่อยู่ในระดับเดียวกับ OECD (Organisation for Economics Co-operation and Development) หรือ องค์การเพื่อความร่วมมือและพัฒนาทางเศรษฐกิจ ได้แก่ Mathematical literacy 15 จังหวัด Scientific literacy 14 จังหวัด Reading literacy 14 จังหวัด ซึ่งอุตรดิตถ์เป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีนักเรียนมีศักยภาพและโรงเรียนที่มีคุณภาพทัดเทียมกับของประเทศในกลุ่ม OECD และจังหวัดอื่นๆ ประกอบด้วย กรุงเทพฯ กำแพงเพชร จันทบุรี ชลบุรี นครปฐม นครนายก พะเยา เพชรบุรี พิษณุโลก ภูเก็ต ร้อยเอ็ด เลย ลำปาง มหาสารคาม สมุทรสงคราม สมุทรปราการ สุโขทัย สุพรรณบุรี และสุราษฎร์ธานี ซึ่ง นายประพฤทธิ์ สุขใย ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุตรดิตถ์ เขต 1 ได้ชื่นชม และขอขอบคุณท่านผู้บริหารสถานศึกษา คุณครู ศึกษานิเทศก์และผู้เกี่ยวข้องที่ได้มีส่วนร่วมสนับสนุนให้ผล PISA ของจังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นหนึ่งใน 20 จังหวัดที่มีคะแนนเฉลี่ยสูงและค่าเฉลี่ยของคะแนนรวมของจังหวัดอยู่ในระดับเดียวกับ OECD กรรณิกา ภาพ : ข่าว / ธราเทพ : รายงาน

12 กันยายน 2557

ขอบคุณแหล่งข้อมูล: สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ

สพฐ.ทุ่ม ๒๘๕ ล้าน สร้าง-ซ่อมแซม อาคารเรียนประสบภัยพิบัติแผ่นดินไหวเชียงราย

632608.JPG

สถานการณ์แผ่นดินไหวที่เชียงราย 6.3 ริกเตอร์ ความลึก 7 กิโลเมตร เมื่อ 5 พฤษภาคม 2557 ผ่านไปแล้วกว่า 3 เดือน แต่สถานการณ์ “แผ่นดินเขย่า” ที่เรียกว่าอาฟเตอร์ช็อคและแผ่นดินไหวยังคงมีติดต่อกันรวมๆแล้วมากกว่า 1,200 ครั้ง

ความเสียหายของโรงเรียนและหน่วยงานการศึกษาต่างๆ จนถึงการสำรวจตรวจสอบเพื่อซ่อมบำรุงตลอดจนก่อสร้างขึ้นใหม่อาคารเรียน อาคารประกอบและสิ่งปลูกสร้างต่างๆที่ได้รับผลกระทบตั้งแต่รอยแตกแยกปริ ร่อยร้าว จนถึงโครงสร้างอาคารที่ปรับเปลี่ยนเสียรูปทรงและสภาพปรักหักพัง ต้องทุบ รื้อ ทิ้ง รวมจำนวน 115 โรง ซึ่งส่งผลกระทบต่อการจัดการเรียนการสอนและการจัดกิจกรรมต่างๆในโรงเรียน สถานศึกษา โดยเฉพาะห้องเรียน สื่อ อุปกรณ์การเรียนการสอน ทั้งระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา

ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานกล่าวว่า “ความเสียหายของอาคารเรียน อาคารประกอบนั้นแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ ระดับสูง ได้แก่ สภาพเสาขาด คอนกรีตโครงสร้างแตก เหล็กเสริมสร้างโครงสร้างงอ อาคารเอียง เป็นพื้นที่อันตรายห้ามเข้าใกล้ ความเสียหายระดับกลาง ได้แก่ เสาขาดบริเวณหัวเสา คาน สภาพเช่นนี้ต้องระงับการใช้อาคาร รอการซ่อมแซม ติดตั้งโครงค้ำยันชั่วคราว ความเสียหายระดับต้น ได้แก่ รอยร้าวที่ผนัง พื้น ฝ้าเพดาน ไม่กระทบถึงโครงสร้างหลัก โรงเรียนต้องประมาณการงบประมาณราคาเพื่อของบประมาณจากสพฐ.ตามปกติ”

การสำรวจตรวจสอบสภาพความเสียหายที่มีระดับความเสียหายแตกต่างกันไป ในขณะที่ยังปรากฎสถานการณ์อาฟเตอร์ช็อคและแผ่นดินไหว “เขย่า”คู่ขนานอย่างต่อเนื่อง แนวลึกบ้าง แนวระนาบบ้าง ตามลักษณะรอยเลื่อนที่มีแตกแยกย่อยตามประกาศของกรมทรัพยากรธรณีที่ระบุว่า มีรอยเลื่อน 14 รอยเลื่อน ในจำนวนนี้เป็นรอยเลื่อนที่ส่งอิทธิพลคาบเกี่ยวและเชื่อมโยงกับเชียงราย 9 รอยเลื่อน ซึ่งแม้นจะเป็นสภาวะการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติที่ไม่สามารถพยากรณ์ล่วงหน้าได้ แต่การจัดการศึกษาก็ต้องดำเนินการต่อไป โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้จัดส่งทีมงานกลุ่มออกแบบและก่อสร้าง สำนักอำนวยการ ลงพื้นที่สำรวจตรวจสอบในทุกมิติวิศวกรรมศาสตร์

นายอำนาจ วิชยานุวัติ ผู้อำนวยการสำนักแผนและนโยบาย สพฐ.กล่าวว่า “อาคารเรียน อาคารประกอบในโรงเรียนที่ได้รับผลกระทบจากภัยแผ่นดินไหว สรุปต้องรื้อถอน จำนวน 19 หลัง 16 โรงเรียน งบประมาณ 16,400,000 บาท,ก่อสร้างทดแทน จำนวน 17 หลัง 16 โรงเรียน งบประมาณ 133,233,000 บาท,ปรับปรุง ซ่อมแซมอาคารเรียน อาคารประกอบ จำนวน 109 โรง งบประมาณ 52,458,690 บาท,ก่อสร้างอาคารเรียนชั่วคราว จำนวน 54 หลัง 17โรงเรียน งบประมาณ 19,976,000 บาท ,ก่อสร้างห้องส้วม จำนวน 49 หลัง 27 โรงเรียน งบประมาณ 25,910,000 บาท,ค่าครุภัณฑ์ จำนวน 4 โรงเรียน งบประมาณ 5,278,560 บาท”

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ดำเนินการช่วยเหลือโรงเรียนที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติแผ่นดินไหวเป็น 3 ระยะ ดังนี้ ระยะที่ 1 อนุมัติงบประมาณ ปี 2557 งบดำเนินงาน ค่าตอบแทน ใช้สอยและวัสดุ จำนวน 5,500,000 บาท เพื่อเป็นการบรรเทาเบื้องต้นให้แก่โรงเรียนได้ใช้เป็นค่าใช้จ่ายจัดหา จัดทำสื่อ สื่อ วัสดุ อุปกรณ์ซ่อมแซมอาคารเรียน อาคารประกอบ ห้องเรียน,ระยะที่ 2 จัดสรรงบประมาณ งบลงทุน ค่าที่ดิน สิ่งก่อสร้าง จำนวน 18,476,000 บาท เป็นค่าก่อสร้างอาคารเรียนชั่วคราวแบบน็อคดาวน์ จำนวน 54 หลัง ให้แก่ 17 โรงเรียน และระยะที่ 3 สพฐ.ได้รับการอนุมัติจัดสรรงบประมาณจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เป็นเงิน 284,276,000 บาท โดยสพฐ.ได้ปรับแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณเป็นค่ารื้อถอน ก่อสร้าง ซ่อมแซมอาคารเรียนอาคารประกอบ

เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2557 ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นำคณะผู้บริหารประชุมชี้แจงพร้อมพบปะผู้บริหารโรงเรียนประถมศึกษา มัธยมศึกษา การศึกษาพิเศษ ทั้งจากจ.เชียงรายและจ.พะเยา เข้าร่วมประชุมและรับฟังคำชี้แจงในการรับมอบงบประมาณช่วยเหลือโรงเรียนที่ประสบภัยพิบัติแผ่นดินไหว ตลอดจนรับฟังองค์ความรู้ “การรับมือกับภัยพิบัติแผ่นดินไหว” จาก รศ.ดร.สุทัศน์ ลีลาทวีวัฒน์ สมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์ฯ ณ ห้องประชุมสามัคคี โรงเรียนสามัคคีวิทยาคม อ.เมือง จ.เชียงราย โดยงบประมาณโครงการภัยพิบัติแผ่นดินไหวแบ่งเป็น สพป.เชียงราย เขต 1 จำนวน 17,919,700 บาท,สพป.เชียงราย เขต2 จำนวน 137,911,000 บาท,สพป.เชียงราย เขต 3 จำนวน 7,461,600 บาท,สพป.เชียงราย เขต4 จำนวน 8,652,100 บาท,สพม.เขต 36 (เชียงราย-พะเยา) จำนวน 100,668,900 บาท,โรงเรียนเชียงรายปัญญานุกูล จำนวน 9,396,000 บาท

“ปรากฎการณ์แผ่นดินไหว เป็นวิกฤตที่นำไปสู่กระบวนการบริหารจัดการเชิงรุกสำหรับรูปแบบภัยต่างๆ ที่อาจจะบังเกิดขึ้นและส่งผลกระทบต่อกระบวนการจัดการศึกษา การเกิดขึ้นขององค์กรเครือข่ายจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน องค์กร มูลนิธิต่างๆ ที่หยิบยื่นเข้ามาร่วมมือ ศึกษา วิเคราะห์แนวทาง การให้ความช่วยเหลือล้วนแล้วแต่เป็นปฏิกริยาของพลังแห่งการร่วมแรงร่วมใจที่จะรับมือกับภัยพิบัติ นอกจากนั้น ปรากฎการณ์แผ่นดินไหวที่เชียงราย ยังนำพาไปสู่การจัดสร้างนวัตกรรม คู่มือสำหรับการดูแล เยียวยา ช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ในกรณีเกิดเหตุต่างๆที่ส่งผลกระทบต่อนักเรียน ครู บุคลากรทางการศึกษา เช่น วาตภัย อุทกภัย ดินโคลนถล่ม ไปจนถึงภัยที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ โรคภัยไข้เจ็บ อุบัติเหตุ สื่ออินเตอร์เน็ต ฯลฯ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นภัยที่ส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการจัดการศึกษา”

นี่คือ…ความชัดเจนของแผนบริหารจัดการกับภัยพิบัติแผ่นดินไหวในโรงเรียนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นับตั้งแต่เริ่มต้นเกิดเหตุการณ์ เมื่อ 5 พฤษภาคม 2557 การให้ความช่วยเหลือโรงเรียนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหวในทุกระดับความรุนแรงอย่างทันท่วงที การบรรเทาทุกข์เยียวยาโรงเรียนให้สามารถจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนถึงการลงพื้นที่เพื่อชี้แจงเตรียมการรับมือแผ่นดินไหวที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในทุกห้วงเวลา การมอบงบประมาณซ่อมแซมอาคารเรียน อาคารประกอบ ของคณะผู้บริหาร ที่นำโดยดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานและคณะรองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ณ จังหวัดเชียงราย เมื่อ 21 สิงหาคม 2557 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นบทบาทและภารกิจการบริหารจัดการยกระดับประสิทธิภาพและคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐานต่อสถานการณ์ “แผ่นดินไหว”ในจังหวัดเชียงรายและจังหวัดอื่นๆที่ได้รับผลกระทบ ที่แม้ปรากฎการณ์ภัยพิบัติจะรุนแรงหนักเบาเพียงใด แต่การจัดการศึกษายังคงต้องบริหารจัดการและเดินหน้าสู่การยกระดับมาตรฐานและคุณภาพต่อไป

22 สิงหาคม 2557

ขอบคุณแหล่งข้อมูล: สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ

ประชาสัมพันธ์ สพป. ๒๓ สิงหาคม ๒๕๕๗

ชาวการศึกษาเชียงรายประทับใจคณะผู้บริหารสพฐ.ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโรงเรียนแผ่นดินไหว

632892.jpg

OOOOOOOOOO เป็นอีกหนึ่งปรากฏการณ์ของทีมฝ่ายบริหารระดับสูงของสพฐ. ตั้งแต่ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการกพฐ. พร้อมรองเลขาธิการฯ 2 ท่าน คือ นายโรจนะ กฤษเจริญ และดร.รัตนา ศรีเหรัญ ตลอดจนผอ.สำนักต่างๆ เช่น นายสุภัทร พันธ์พัฒนกุล ผอ.สำนักอำนวยการ นายอำนาจ วิชยานุวัติ ผอ.สำนักนโยบายและแผน ฯลฯ เดินทางเยือนจังหวัดเชียงราย โดยมีจุดประสงค์หลัก คือ การมอบเงินสำหรับการซ่อมแซม ปรับปรุง ก่อสร้างแบบตอกเสาเข็มยกหลังคากันใหม่ ที่สำคัญคือ อาคารเรียนพระราชทานในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อโรงเรียนทั้งสังกัดสพม.เขต36 (เชียงราย-พะเยา)และสพป.เชียงราย เขต1-4 ที่ทุกข์ร้อนจากสถานการณ์อาคารเรียนเสียหายเสื่อมทรุดโครงสร้างปรับเปลี่ยน เป็นเขตพื้นที่อันตรายที่ต้องมีประกาศห้ามเข้าใกล้ เพราะอาจพังครืนทลายมาตอนไหนก็ได้ แต่ปัจจุบันนี้ สพฐ.โดยทีมวิศวกร สพฐ.ได้สำรวจตรวจสอบและรายงานดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการกพฐ. จนกระทั่งนำไปสู่การอนุมัติงบประมาณการก่อสร้างอาคารชั่วคราวหรืออาคารน้อคดาวน์ ไปจนถึงการสร้างอาคารเรียนหลังใหม่ให้กับโรงเรียนที่อาคารเรียนเสียหายใช้การไม่ได้ โดยได้เริ่มทยอยทุบรื้อถอนแล้วพร้อมก่อสร้างใหม่ ซึ่งคาดว่าจะสร้างเสร็จทันใช้งานในปีการศึกษา 2558 OOOOOOOOOO ต่อจากนั้น ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการกพฐ. พร้อมคณะได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโรงเรียนที่ได้รับความเสียหายจากภัยพิบัติแผ่นดินไหว คือ รร.เชียงรายปัญญานุกูล ต.ป่าอ้อดอนชัย อ.เมืองเชียงราย รร.พานพิทยาคม รร.ธารทองวิทยา อ.พานและรร.แม่ลาววิทยาคม ต.ดงมะดะ อ.แม่ลาว ,นายโรจนะ กฤษเจริญ รองเลขาธิการกพฐ. เดินทางไปรร.แม่มอญวิทยา ต.ห้วยชมภู อ.เมืองเชียงราย รร.โปร่งแพร่วิทยา ต.ป่าซาง อ.แม่ลาว,ดร.รัตนา ศรีเหรัญ รองเลขาธิการกพฐ. ตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจคณะครู ชาวบ้าน กรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่รร.บ้านดอยช้าง ต.วาวี อ.แม่สรวย และรร.บ้านห้วยส้านยาว อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย ซึ่งคณะครู ผู้บริหาร ต่างรู้สึกประทับใจและยินดีกับการที่ผู้บริหารสพฐ.ได้ลงพื้นที่สัมผัสกับสภาพความเสียหายและการจัดการเรียนการสอนในบรรยากาศของซากปรักหักพังที่เป็นผลจากแผ่นดินไหว 6.3 ริกเตอร์ เมื่อ 5 พฤษภาคม 2557 ครั้งประวัติศาสตร์ของชาวเชียงราย และติดตามการดำเนินการซ่อมแซม ปรับปรุง พื้นที่ใช้สอย อาคารเรียน อาคารประกอบ สิ่งปลูกสร้างที่ได้รับความเสียหายอย่างใกล้ชิด

(ภาพโดย/ไมตรี วงศ์เมือง ผอ.กลุ่มอำนวยการ สพม.เขต 36 ,วรวุฒิ วุฒิอาภรณ์ นักประชาสัมพันธ์ ชพ. สพป.เชียงราย เขต2,นางสาวแสงแดือน สันธิ นักประชาสัมพันธ์ ชพ. สพม.เขต 36,อินสอน กันนา ผอ.รร.บ้านดอยช้าง,ชุมพล วิเชียรพัฒน์ เลขาฯผอ.สพม.เขต36)

53 สพท.ภาคเหนือ เตรียมความพร้อม “นักเรียนอาเชียน” 2558 ที่อุตรดิตถ์

633089.jpg

ดร.พิธาน พื้นทอง ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบเครือข่ายและการมีส่วนร่วม สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า การเตรียมความพร้อมคนไทยในยุคสมัยปัจจุบันให้พร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ในปี 2558 เป็นภารกิจที่สำคัญอย่างหนึ่งของกระทรวงศึกษาธิการ ที่จะต้องพัฒนาเด็กนักเรียนและเยาวชนไทย โดยเฉพาะเด็กวัยการศึกษาขั้นพื้นฐานที่จะต้องมีคุณลักษณะความเป็นนักเรียนแห่งอาเซียนและทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ซึ่งเป็นคุณลักษณะที่สำคัญยิ่งสำหรับนักเรียนแห่งอาเซียน เช่น คุณลักษณะทางด้านความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม การสื่อสาร การทำงานร่วมกัน ความเชี่ยวชาญในการหาข้อมูล การคิดวิเคราะห์เชิงวิพากษ์ การแก้ปัญหาและการตัดสินใจ โดยเฉพาะคุณลักษณะและความสามารถทางด้านการสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษ ซึ่งจะใช้เป็นภาษาราชการในประชาคมอาเซียนต่อไปนั้นทางสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานหรือสพฐ. ได้ให้ความสำคัญและถือเป็นจุดเน้นในการจัดหลักสูตรการเรียนการสอน ตลอดจนการพัฒนาหลักสูตรอาเซียนศึกษาให้โรงเรียนได้นำไปใช้ในการจัดกระบวนการเรียนการสอน ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าโดยภาพรวมแล้วการสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษของเด็กนักเรียนยังไม่ดีเท่าที่ควร แต่ปัจจุบันก็ได้เน้นย้ำในเทคนิควิธีและกระบวนการพัฒนาการจัดการเรียนการสอน ซึ่งสพฐ.ถือเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญของการจัดการศึกษาในหลักสูตรภาษาอังกฤษของนักเรียนทั้งระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา

นายประพฤทธิ์ สุขใย ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุตรดิตถ์ เขต 1 กล่าวว่า ในระหว่างวันที่ 23-25 สิงหาคม 2557 สพป.อุตรดิตถ์ เขต1 เป็นเจ้าภาพจัดกิจกรรมพาทีสร้างสรรค์และกิจกรรมโต้วาทีภาษาอังกฤษ ตามโครงการเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียนและทักษะในศตวรรษที่ 21 ครั้งที่ 2 ประจำปี 2557 ระดับภาคเหนือ ณ โรงเรียนอุตรดิตถ์ดรุณี อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์ โดยจะมีนักเรียนที่ผ่านการคัดเลือกจากเขตพื้นที่การศึกษาต่างๆ เป็นระดับประถมศึกษา 44 เขตพื้นที่การศึกษาซึ่งรวมถึงโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษาด้วยและโรงเรียนในเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา 9 เขตพื้นที่การศึกษา มาแข่งขันพาทีสร้างสรรค์ในหัวข้อเรื่องเกี่ยวกับประชาคมอาเซียน ซึ่งในระดับประถมศึกษาจะแข่งขันโดยพูดเป็นภาษาไทย ส่วนระดับมัธยมศึกษาจะพูดเป็นภาษาอังกฤษ โดยหลักเกณฑ์การพิจารณาจะเน้นย้ำที่องค์ความรู้ เหตุผล ความคิดของนักเรียนที่เกี่ยวกับประชาคมอาเซียนมิใช่เน้นที่การพูดภาษาอังกฤษได้คล่องแคล่วหรือมิใช่สื่อสารภาษาไทยได้ชัดเจนฉะฉานถูกอักขระแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ซึ่งกิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของการสนับสนุนการการเตรียมนักเรียนให้พร้อมก้าวสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 ต่อไป

23 สิงหาคม 2557

ขอบคุณแหล่งข้อมูล: สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ